ข้อคิดในการทำงาน

หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา  ตั้งแต่ที่หนิงได้มาอยู่ภายในร่มเงาของ บริษัท สุโข สปา  หนิงได้มีโอกาสฟัง MD ของบริษัทฯ กล่าวให้ข้อคิดกับพวกเราที่อยู่ในระดับผู้บริหารว่า  อยากให้พวกเราทำงานกันโดยยึดเอาแบบอย่างมาจาก 3 รูปแบบ 3 ชาติ  ได้แก่

  • ขยันแบบคนจีน
  • มีน้ำใจแบบคนไทย
  • มีระบบแบบฝรั่ง

หนิงชอบมาก ๆ เลยนะคะ  กับ 3 นิสัยของ 3 ชนชาติ  ที่ MD ของเรานำมาให้พวกเราเอาเยี่ยงอย่าง  เพราะถ้าทำเอาทั้ง 3 นิสัยมารวมกันได้  รับรองว่าคงไม่มีใครสู้ชาวสุโขของเราได้แล้วล่ะจริงไห๊มค่ะ

แต่ในความเป็นจริง  คำพูดต่าง ๆ ไม่ว่าจะพูดไปกี่ครั้งกี่หน  สิ่งที่ผ่านเข้ามาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวจะไปสู้จิตใต้สำนึกที่พวกเขาเป็นกันอยู่ได้  เพราะคนเราทุกคนหนิงว่าไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นนะคะ  สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตต่างก็มีเหมือนกันนั่นก็คือ  “การเอาตัวรอด”  ดังนั้น  เมื่อแต่ละคนต้องเผชิญกับปัญหาการเอาตัวรอดของคนก็จะแตกต่างกันออกไป  ซึ่งบางครั้งสิ่งนั้นมันถูกตัดสินใจทำโดยไม่ได้คิดคำนึงถึงด้วยซ้ำไปว่าจะกระทบกับใครบ้าง  มันจะเป็นเรื่องที่ครั้งนี้จะต้องใช้ระบบหรือน้ำใจกันนะ  จะเป็นอะไรก็ตามแต่เราต้องเป็นผู้ได้เปรียบเสมอหรือเปล่า  ถ้าใช่ก็ควรเป็นแบบนั่นแหละ  อิอิ  ไม่รู้โดนใครบ้างหรือเปล่านะ  แม้แต่หนิงเองก็เป็นแบบนี้เหมือนกันค่ะ  ก็อย่างที่บอกหนิงก็มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด 555

ไม่ว่าจะยังไงสำหรับตัวหนิงเองซึ่งต้องยอมรับกับตัวเองเหมือนกันกับประสบการณ์ด้านการทำงาน  เพราะหนิงเพิ่งเริ่มต้นชีวิตในบริษัทฯ ที่มีระบบได้ไม่นานนัก (ประมาณ 5 ปีมานี้เอง)  ทำให้บางอย่างเราเองก็ต้องเรียนรู้กับสิ่งนั้น ๆ เหมือนกัน  จากวันที่หนิงเริ่มต้นกับสุโข จนกระทั่งวันนี้  หนิงคิดเสมอว่า  หนิงได้รางวัลชีวิตมากมายกับโอกาสต่าง ๆ ที่หนิงได้รับ  ทำให้เรารู้จักคิด  รู้จักปฏิบัติมากขึ้น  รู้สึกว่าเราโตมากขึ้น  ซึ่งไม่ได้โตแต่ตัว  แต่รู้ว่าตัวเองมีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น  ทำให้หนิงรู้แล้วว่า  คำว่า “ประสบการณ์” มันมีความสำคัญจริง ๆ

ดังนั้น  การที่มีการกำหนดคุณสมบัติในการทำงานว่า  จะต้องมีประสบการณ์  จะต้องมีวัยวุฒิ  คุณวุฒิ  ต่าง ๆ นั้น  หนิงเริ่มเห็นความสำคัญของมันแล้วจริง ๆ นะ  เพราะมันเห็นได้ชัดจริง ๆ  แต่มันก็ไม่เสมอไปเหมือนกันค่ะ  อิอิ

ลิงกับลา

อีกเช่นเคยนะคะ  วันนี้หนิงได้สะสางอ่าน mail เก่า ๆ ที่เพื่อน ๆ ส่งมา  เพราะเมื่ออาทิตย์ที่แล้วไปฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งทางใจ  ทำให้ mail ค้างเพียบ  และแล้วก็มาเจอเรื่อง “ลิงกับลา” ที่เพื่อนสนิทคนนึงส่งมาให้  หนิงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่พวกเราน่าจะเคยพบเจอในการทำงาน  ลองอ่านกันดูค่ะ

หญิงชาวบ้านคนหนึ่งอาศัยอยู่คนเดียวในกระท่อม ด้วยความเหงานางจึงหาสัตว์มาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนสองตัว  คือ ลิงและลา วันหนึ่งหญิงชาวบ้านคนนี้ต้องออกไปตลาดเพื่อซื้ออาหาร ก่อนออกจากบ้านเธอได้เอาเชือกมาผูกคอลิงแล้วมัดขาของลาเอาไว้ทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงทั้งสองตัวเดินย่ำไปมาในกระท่อมจนทำให้ข้าวของต่างๆ ได้รับความเสียหาย
 
ทันทีที่หญิงชาวบ้านออกจากบ้านไป ลิงซึ่งมีความฉลาดและแสนซนเป็นคุณลักษณะประจำตัวก็ค่อยๆ คลายปมเชือกออกจากคอของมัน อีกทั้งยังซุกซนไปแก้เชือกมัดขาให้แก่ลาอีกด้วย หลังจากนั้นเจ้าลิงก็กระโดดโลดเต้นห้อยโหนโจนทะยานไปทั่วกระท่อมจนทำให้ข้าว ของต่างๆ ล้มระเนระนาดกระจัดกระจายไปทั่วอีกทั้งยังซุกซนรื้อค้นเสื้อผ้าของหญิงชาวบ้านมาฉีกกัดจนไม่เหลือชิ้นดี ในขณะที่ลาได้แต่มองดูการกระทำของเจ้าลิงอยู่เฉยๆ
 
สักครู่หนึ่ง หญิงชาวบ้านคนนี้ก็กลับมาจากตลาด เจ้าลิงมองเห็นเจ้าของเดินมาแต่ไกลจาก
ทางหน้าต่างก็รีบเอาเชือกมาผูกคอตนไว้ อย่างเดิมและอยู่อย่างสงบนิ่ง
 
ฝ่ายหญิงชาวบ้านเมื่อเปิดประตูกระท่อมเข้ามาเห็นข้าวของของตนถูกรื้อค้น กระจุยกระจาย
เช่นนั้นก็เกิดโทสะขึ้นทันที หันมองลิงและลาเพื่อดูว่าใครเป็นผู้ก่อเรื่อง และเห็นว่าลาไม่มีเชือกผูกขาดังเดิม เธอก็คิดเอาเองว่าเจ้าลานี่เองคือตัวปัญหา ทำให้กระท่อมของเธอมีสภาพไม่ต่างจากโรงเก็บขยะ ดังนั้นหญิงชาวบ้านจึงวิ่งไปหยิบท่อนไม้นอกบ้านมาทุบตีลาอย่างรุนแรง   ซึ่งเจ้าลาผู้น่าสงสารก็ได้แต่ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดจนสิ้นใจโดยไม่สามารถทำ อะไรได้เลย
 
เธอทั้งหลาย…
 
เธอหลายคนคงไม่ค่อยชอบตอนจบของนิทานเรื่องนี้นัก เพราะสงสารเจ้าลาที่ไม่ได้ทำความ
ผิดอะไรแต่กลับถูกเจ้าของทำโทษจนตาย   ส่วนเจ้าลิงซึ่งเป็นต้นเหตุแท้ๆ กลับรอดพ้น และไม่ได้รับผลกรรมใดๆ

แต่แท้ที่จริงแล้ว นิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึง ความเป็นผู้นำ ของหญิงชาวบ้านที่ไม่พิจารณาเหตุการณ์ให้ถ่องแท้  เชื่อแค่สิ่งที่ตนเห็นแล้วลงโทษไปตามความรู้สึกและประสพการณ์ส่วนตัว  เธอมองเห็นข้าวของเสียหายและมองเห็นลาที่หลุดออกมาจากเชือก แล้วตัดสินว่าลาคงเป็นผู้กระทำ  แต่ไม่ได้มองว่าลาไม่มีปัญญาจะแก้เชือก และไม่มีนิสัยชอบรื้อ
ทำลาย  เธอมองเห็นลิงยังถูกเชือกล่ามอยู่ก็คิดว่าลิงคงไม่ใช่ผู้กระทำ แต่มองไม่ออกว่าผู้น่าจะแก้ปมเชือกได้และมีนิสัยชอบรื้อทำลายนั้นคือ ลิง

ความจริงถ้าเธอรู้จักสำรวจร่องรอยความเสียหายเสียสักเล็กน้อย เธอก็จะพบรอยเท้าและฟันของลิงกระจายไปทั่วห้อง แต่ไม่พบรอยเท้าของลาเลยเพราะลาไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน
 
เหตุที่องค์กรของเราต้องเหน็ดเหนื่อยทรมานกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความสะเพร่าของผู้นำ
ที่ “ปล่อยให้ลิงสร้างปัญหา แต่ลารับเคราะห์”   ลาก็เหมือนกับคนที่ปฏิบัติงานได้ตามหน้าที่ แต่ไม่ค่อยมีปากมีเสียง  พูดจาตรงไปตรงมาแต่ไร้เล่ห์เหลี่ยม    ลิงก็เหมือนกับคนที่ฉลาดแกมโกง พูดมาก Present เก่ง อ้างอิงตำราได้สารพัด  แต่ไม่เคยทำงานจริง   นายที่ดีไม่ควรปล่อยให้ลิงหลงระเริงว่าทำผิดเท่าไหร่นายก็ไม่มีทางรู้      

ผู้เป็นนายไม่ควรยึดติดความสบาย  นั่งขึ้นอืดรอฟังแต่รายงานในห้องประชุม  รู้จักยอมเสีย
สละตน สละเวลาอีกเล็กน้อยเพื่อค้นหาความจริงเพื่อควบคุมเจ้าลิง เพราะไม่เช่นนั้น องค์กรก็จะทุกข์ทรมานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดถ้าลิงสงบได้องค์กรก็จะพลอยสบายและมีความสุขอย่างยั่งยืนไปด้วย

สมุนไพรอันตราย 13 ชนิดต่อชีวิตการทำงาน

อีกครั้งนะคะที่หนิงได้รับ FW. Mail มารู้สึกว่าชอบ  ได้ใจดี  เลยอยากเอามาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน  เท่าที่อ่านก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยนะคะว่าสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดนี้มันอันตรายจริง ๆ ค่ะ  อิอิ

สำนักแห่งความสุขขอประกาศรายชื่อสมุนไพรอันตราย 13 ชนิดที่มีต่อชีวิตการทำงานดังนี้คือ :

1.  ขิง / ข่า

ขิง(ก็รา) ข่า(ก็แรง) เป็นอันตรายต่อชีวิตการทำงานอย่างยิ่ง บางครั้งเป็นการกระทบกระทั่งด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อไม่ยอมกันคนละก้าว ก็เสียทั้งงานและภาพพจน์ขององค์กร

ทางแก้ : การทำงานในสำนักงานไม่ว่าองค์กรราชการหรือเอกชนเป็นการรวมคนจากที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน รู้จักยอมกันบ้าง ทำนอง ‘แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร’ นอกจากจะได้ไม่เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังได้ประสิทธิภาพของงานสูง

2 ขมิ้น (กับปูน)

ไม่ชอบเพื่อน ไม่ชอบเจ้านาย ไม่ชอบหน้าลูกค้า ไม่ชอบงานที่ทำ ไม่ชอบทุกอย่างในชีวิต!

ทางแก้ : ปรับเปลี่ยนทัศนคติมองผู้อื่นในด้านดี หรืออย่างน้อยก็ตามความเป็นจริง มองลูกค้าว่าเป็นผู้ที่ทำให้เราเลี้ยงค รอบครัวได้ เพราะการทำงานโดยมีทัศนคติไม่ดียากจะก้าวหน้า และที่แย่ที่สุดคือผ่านชีวิตทำงานแต่ละวันอย่างทรมาน

3. มะนาว (ไม่มีน้ำ)

พูดไม่ดี พูดมากไป พูดไม่ไพเราะ พูดแต่เรื่องร้ายๆ เหล่านี้เป็นอันตรายต่อองค์กรอย่างยิ่ง นอกจากจะขัดใจกันในองค์กรแล้ว ยังอาจทำให้ลูกค้าหนีหายก็ได้

ทางแก้ : พูดน้อยหน่อย ทำงานมากหน่อย มองด้านดีของคนอื่นบ้าง

4. จิก

เจ้านายประเภทที่ใช้คนไม่เลือกเวลา ชอบบรี๊ฟงานห้านาทีก่อนเลิกงาน โทร.ตามจิกลูกน้องห้านาทีก่อนเที่ยงคืนและในวันหยุดเป็นประจำ

ทางแก้ : การทำงานที่ดีอยู่ที่การวางแผน และรักษาสมดุลของงานกับครอบครัว ลูกน้องที่พักผ่อนพอเพียงและมีชีวิตครอบครัวที่ดี ย่อมทำงานได้ประสิทธิภาพกว่าคนที่ทำงานใต้สภาวะของการจิก การทำงานชั่วโมงยาวนานมิได้หมายถึงประสิทธิภาพและคุณภาพเสมอไป

5. ว่านหางจระเข้ (ฟาดหาง)

เจอเรื่องไม่ดีที่บ้านก็นำมาฟาดหาง (จระเข้) กับเพื่อนหรือลูกน้อง หรือทั้งเพื่อนและลูกน้อง

ทางแก้ : แยกแยะงานกับเรื่องส่วนตัว งานส่วนงาน ไม่นำเรื่องส่วนตัวมาปนกับงาน เพราะทุกคนก็ประสบเร ื่องไม่ดีทั้งนั้น แก้ปัญหาเรื่องส่วนตัวโดยวิธีการอื่น เช่นปรึกษาเพื่อนฝูง เป็นต้น

6  (เย็น)ชา

เย็นชากับลูกค้า ลูกค้าหลุดได้ เย็นชากับลูกน้อง ลูกน้องก็หนี เย็นชากับเจ้านาย ก็อาจตกงาน!

ทางแก้ : รักษาน้ำใจเพื่อนๆ ในที่ทำงาน จะทำให้หลายสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ในที่ทำงานเป็นสวรรค์ ไม่ใช่นรก

7 สีเสียด

ใช้วาจาเสียดสี เหยียดหยาม กระแทกกระทั้นคนรอบตัวเพื่อความสะใจ ต่อหน้าลูกค้าเอ่ย “ครับๆ ค่ะๆ
” ลับหลังลูกค้าด่าว่าโง่ ฯลฯ

ทางแก้ : การใช้คำพูดในเชิงลบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ตรงกันข้ามจะทำให้ผู้พูดลดคุณค่าและความน่าเชื่อถือลง ลองมองด้านดีของคนอื่นบ้าง

8 กระทืบยอด

เป็นยอดในการย่ำคนอื่น เป็นเยี่ยมในการไต่ขึ้นที่สูงโดยเหยียบหัวเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ

ทางแก้ : ไต่ขึ้นที่สูงไปตามพัฒนาการของตนเอง จะเป็นฐานที่แข็งแรงที่สุด

9 มะขวิด

ไล่ขวิดคนไปทั่ว ยุ่งเรื่องชาวบ้านโดยไม่ทำงานของตัวเอง

ทางแก้ : กลับไปทำงาน! เพราะเวลาวัดผลงานในตอนท้าย ไม่ได้วัดกันที่ความคมของเขี้ยว เขาหรืองา

10 ยอ

ยกยอเจ้านายตลอดเวลา เสนอหน้าหลังเวลางาน

ทางแก้ : ความก้าวหน้าจากการประจบเอาใจผู้ใหญ่ไม่ใช่รากฐานที่มั่นคงของชีวิตการทำงานในระยะยาว

11 แมงลัก

ขโมยไอเดียของคนอื่น แล้วยกว่าเป็นของตัวเอง

ทางแก้ : พัฒนาตนเองตลอดเวลา เรียนรู้จากความคิดของผู้อื่น แล้วนำไปแตกหน่อต่อยอด เป็นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง

12 รางจืด

ใช้ชีวิตทำงานแบบจืดสนิท ทำงานแบบกางตำรา ไม่เริ่มงานเด็ดขาดแม้เข็มนาฬิกาอยู่ก่อนเวลาเริ่มงาน 1.025 วินาที พนักงานไม่เคยไปสังสรรค์ด้วยกัน ฯลฯ

ทางแก้ : เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตทำงานบ้าง แล้วอาจพบว่า การทำงานก็เป็นเรื่องสนุกได้

13 กระบือเจ็ดตัว

พอใจในความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่ไม่ว่ามันจะจำกัดเพียงใด ไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ทางแก้ : ความรู้หรือเทคโนโลยีที่เรียนมาเมื่อ 10-20 ปีก่อนอาจแก้ปัญหารูปแบบใหม่ๆ ในปัจจุบันไม่ได้ โลกเปลี่ยนไปนาทีต่อนาที คนทำงานต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทัน ต้องศึกษาเพิ่ม อาจเป็นการเรียนวิชาที่เพิ่งเกิดใหม่ สัมมนาทางวิชาการ ศึกษาภาคค่ำ แทนที่จะห าประสบการณ์จากการกินเหล้าและเข้าผับอย่างเดียว

ขออำนวยพรให้ทุกท่านทำงานอย่างมีความสุข!

วินทร์ เลียววาริณ
21 กุมภาพันธ์ 2552

ขอบคุณบทความดีๆ จากคุณ วินทร์ เลียววาริณ นะคะ

พนักงานส่วนใหญ่จากไปเพราะหัวหน้า…จริงหรือ?

วันนี้หนิงได้รับ Weekly HR. Tips จากคุณประเสริฐ  รองประธานชมรมของพวกเรา  ซึ่งหนิงเคยบอกไว้ว่า  ถ้าหนิงได้รับข้อมูลหนิงจะเอามาเผยแพร่ให้ใน blog วันนี้ก็เลยนำมาเสนอเลยนะคะ  ทั้งนี้หนิงไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำใด ๆ นะคะ

หัวหน้าแบบใดจึงกดดันจนทำให้พนักงานต้องลาออก?

คุณมีพฤติกรรมแบบหัวหน้าเหล่านั้นหรือไม่?

บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินแนวคิดที่ว่า “People join organization but leave their boss.” หรือที่แปลได้ตรง ๆ ตัวว่า คนเข้าทำงานเพราะองค์กรแต่จากไปเพราะหัวหน้า….ที่มาของแนวคิดนี้  เกิดจากการที่หลายๆ องค์กรพยายามที่จะสรรหาคนเก่งๆ เข้ามาสู่องค์กร แต่อาจไม่ได้ใช้เวลามากพอในการเก็บรักษาคนเก่งเหล่านั้นเอาไว้ได้นั่นเอง

การที่พนักงานคนหนึ่งจะอยู่หรือลาออกไปจากองค์กร อะไรคือสาเหตุและปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจเช่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเข้าใจว่า “เงิน” หรือ “ค่าตอบแทนที่น่าพึงพอใจ” เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ดึงดูดและรักษาให้คนเก่งอยู่กับองค์กร ซึ่งความคิดเช่นนี้ก็น่าจะเห็นด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเงินยังคงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะรั้งให้พนักงานอยู่หรือจากไปจากองค์กร แต่หากจะถามว่าเงินคือตัวแปรสำคัญเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ก็คงจะตอบว่าไม่ใช่ เพราะการจากไปของพนักงานอาจมีที่มาจากหลายๆ สาเหตุ ด้วยกัน

โดยปกติองค์กรเมื่อพนักงานลาออก องค์กรมักทำการสัมภาษณ์และสอบถามถึงสาเหตุของการลาออกหรือที่เรียกว่า Exist Interview และเราก็มักจะพบกับคำตอบที่ได้ยินจนคุ้นหูว่า ไม่ว่าจะเป็น “ไปเรียนต่อ” “ช่วยงานที่บ้าน” หรือ “ได้งานใหม่” เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นคำตอบเดิมๆ ที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ 

 HR ควรทำอย่างไรจึงจะสามารถหาเหตุผลที่แท้จริงได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กร เหตุใดคนเก่งๆ จึงลาออกไปอย่างน่าเสียดาย คำตอบคือลองทิ้งเวลาสักระยะหนึ่ง แล้วลองกลับไปสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออกจากองค์กรไปแล้วสัก 6-8 เดือนถึงสาเหตุการลาออกที่แท้จริง แล้วคุณอาจพบคำตอบที่แตกต่างจากตอนที่ทำ Exit Interview ก็ได้ ผมใช้วิธีนี้กับหลาย ๆ องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้และพบว่ากว่า 80% ของพนักงานที่ลาออกจากองค์กรไปแล้วส่วนใหญ่กลับคำให้การของตัวเอง และค้นพบด้วยว่าสาเหตุหลักของการลาออกนั้นมักมาจากปัญหาที่เกิดจากหัวหน้างาน

 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกันกับงานวิจัยของสถาบันด้านพัฒนาบุคลากรทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ว่า คนเข้าทำงานเพราะองค์กรแต่จากไปเพราะหัวหน้า…. ได้เป็นอย่างดี 

 จากการได้สัมผัสกับผู้จัดการ หรือ หัวหน้างาน ในหลากหลายองค์กร พบว่าองค์กรไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้างานเท่าที่ควร ส่วนใหญ่การเลื่อนตำแหน่งมักอาศัยเกณฑ์ของ Technical Skill มากกว่า People Skill โดยดูจากผลงานในอดีตมากกว่าผลงานที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ความเชื่อเหล่านี้ไม่ถูกต้องเพราะแท้ที่จริงหัวหน้างานที่ดีควรจะต้องมี People Skill ที่ดีประกอบด้วย แต่องค์กรกลับมองข้ามความสำคัญในข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ในความเป็นจริง มีเพียงไม่กี่องค์กรที่มีการเตรียมความพร้อมด้าน People Skill ให้กับผู้ที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน ส่วนใหญ่มักจะพัฒนา People Skill ให้กับหัวหน้างานก็ต่อเมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง บางองค์กรเลวร้ายกว่านั้นคือแทบจะไม่มีการพัฒนา People Skill ให้กับหัวหน้างานเลย จนทำให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังและส่งผลให้คนเก่งคนดีในองค์กรต้องหลีกหนีหัวหน้างานเหล่านี้ด้วยการลาออกจากองค์กรไปเสียเอง และที่สำคัญการลาออกด้วยสาเหตุนี้ องค์กรมักไม่ได้รับทราบความจริงตอนทำ Exit Interview ด้วยเพราะพนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่า “พูดไปก็ไลฟ์บอย” (แปลว่าเสียเวลาเปล่า ๆ) ถึงแม้จะไม่อยู่กับองค์กรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงอาจจะต้องเจอหน้ากันอยู่ ดังนั้นจะสร้างศัตรูไว้ทำไม (ยกเว้นกรณีเป็นศัตรูกันอยู่แล้วระหว่างที่ทำงานด้วยกันอยู่…ฮา)

 เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสได้ฟังการบรรยายเรื่อง Leadership จากปรมาจารย์ ท่านหนึ่งที่ชื่อ Marshall Goldsmith ท่านได้กล่าวถึงการเป็นหัวหน้างานไว้อย่างน่าสนใจว่า What got you here, won’t get you there หรือแปลได้ใจความว่า “สิ่งที่ทำให้คุณสำเร็จในอดีต ไม่ได้แปลว่าจะช่วยให้คุณสำเร็จได้ในอนาคต” คำพูดนี้สอนการเป็นหัวหน้าได้อย่างดี เพราะท่านกำลังบอกเป็นนัยว่าหัวหน้าหลายคนใช้วิธีการเดิม ๆ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จจนเติบใหญ่มาได้ ในการบริหารจัดการคนของพวกเขา เพราะพวกเขาคิดว่านั่นคือหนทางแห่งความสำเร็จ…ซึ่งอาจไม่จริงเสมอไป !

นอกจากนั้นท่านยังเขียนหนังสือชื่อเดียวกันกับคำพูดข้างต้นโดยอาศัยประสบการณ์ของท่านที่ทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ในฐานะโค้ชของผู้บริหาร (Executive Coach) ระบุปัจจัย 20 อย่างที่ทำให้หัวหน้างาน “ขาด” จากการเป็นหัวหน้างานที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้พบเจอในการทำงานให้กับหลาย ๆ องค์กรในบ้านเราเช่นกัน ซึ่งพอสรุปได้คร่าว ๆ สัก 5 ข้อดังนี้…

  1. รับปากแล้วไม่ทำ หรือ รับปากในสิ่งที่ทำไม่ได้ เช่น การรับปากว่าปลายปีจะขึ้นเงินเดือนให้หรือให้โบนัสมากกว่าคนอื่น ๆ เป็นต้น การรับปากแบบนี้เป็นการให้สัญญาที่เกินจริงเพราะหลาย ๆ ครั้งการปรับเงินเดือนหรือให้โบนัสมักไม่ใช่อำนาจเด็ดขาดของหัวหน้างานคนเดียว
  2. รับชอบแต่ไม่รับผิด ไม่กางปีกปกป้องลูกน้อง ประมาณว่าเอาผลงานของลูกน้องไปนำเสนอ โดยไม่ให้เครดิตกับลูกน้องแม้แต่น้อย แต่ถ้าลูกน้องทำพลาดไป ก็บอกคนอื่นว่า “ไม่รู้ซิ อันนี้ลูกน้องทำ เดี๋ยวจะกลับไปจัดการ บอกแล้วไม่ฟัง” อะไรประมาณนี้ ซึ่ง ดร.เสรี วงษ์มณฑา เคยกล่าวถึงเรื่องการทำงานของหัวหน้าที่ดีเอาไว้ว่า หัวหน้าทีหน้าที่ในการใช้ 3 อย่างนี้ในการบริหารจัดการคือ มือ-หัว-หน้าหมายความว่าหัวหน้าที่ดีต้องลงมือทำด้วย ไม่ใช่เอาแต่สั่งแต่ไม่ทำ ต้องรู้จักใช้หัวในการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ และคิดหาวิธีปรับปรุงงานที่ทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพ (แปลว่าใช้ทรัพยากรน้อยลง) และได้ประสิทธิผล (แปลว่าบรรลุผลตามที่มุ่งหมายไว้) มากยิ่งขึ้น และสุดท้ายต้องรู้จักที่จะเอาหน้าไปรับความผิดที่ทีมงานก่อนขึ้น แบบโบราณเรียกว่า “รับหน้า” ไม่ใช่ “หลบหน้า” แต่การรับผิดแทนลูกน้องก็ไม่ได้หมายความว่า ปลอยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นโดยไม่มีการว่ากล่าวตักเตือน
  3. ตัดสินใจโดยไม่ฟังความคิดเห็นผู้อื่นหรือตัดสินใจโดยปราศจากคำอธิบายใด ๆ พูดง่าย ๆ คือการบริหารงานแบบขาดการมีส่วนร่วม ทุกอย่าง “ข้า” เป็นใหญ่ ถึงแม้บางครั้งจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าการตัดสินใจโดยมีส่วนร่วมเป็นไปได้ยาก เช่นการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อพนักงาน เป็นต้น แต่หัวหน้าแบบนี้ก็จะไม่ได้ให้คำอธิบายอะไรที่ชัดเจนในภายหลังถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนั้น จึงทำให้ลูกน้องยังคงเคลือบแคลงกับแนวทางการตัดสินใจดังกล่าว
  4. พูดจาไม่ให้เกียรติลูกน้อง หัวหน้างานจำนวนหนึ่งมักจะเชื่อว่าตนเองมีความสนิทสนมกับลูกน้องเป็นอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องระวังคำพูดมากนัก ยิ่งลูกน้องที่ทำงานอยู่ด้วยกันมานาน ก็มักจะรู้จักนิสัยของห้วหน้าว่าพูดจาพาทีอย่างไร ทำให้หัวหน้างานมักไม่ระวังคำพูดจนบางครั้งก็มักได้ยินคำที่ไม่สุภาพหรือภาษาสมัยพ่อขุนฯผุดขึ้นมาระหว่างการทำงานอยู่เนื่อง ๆ ซึ่งหัวหน้าหลายคนมักเข้าใจไปเองว่าลูกน้องรับได้ แต่แท้ที่จริงแล้วผมกลับพบว่าลูกน้องส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพียงแต่พวกเขา “ไม่อยากพูด” เท่านั้น !
  5. ตำหนลูกน้องต่อหน้าธารกำนัล ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่บรรดาลูกน้องทั้งหลายอึดอัดใจอยู่มิใช่น้อย เพราะหัวหน้างานส่วนใหญ่มักไม่รู้วิธีการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน หัวหน้าที่ดีควรต้องเรียนรู้ที่จะมองหาสิ่งที่ลูกน้องทำได้ดีและชมเชยลูกน้องต่อหน้าคนอื่น ๆ บ้าง ในทางกลับกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะระงับสติอารมณ์ที่จะ “รับประทาน” (ด่า) ลูกน้องต่อหน้าคนอื่น ๆ เช่นกัน เอาแบบโบราณว่า “ติในที่ลับ ชมในที่แจ้ง” ไม่ใช่ “ติ ในที่แจ้ง แล้วชมในที่ลับ” แบบนี้มันกลับตาลปัตร ไป

ทั้ง 5 ข้อนี้ ฟังดูแล้วคุ้น ๆ ไหม ลองหันกลับมาสำรวจตัวเองดูซิว่าทำไปได้แล้วกี่ข้อ ผมรับประกันได้ว่า ถ้าคุณทำครบทั้ง 5 นี้ รับรองคุณจะประสบความสำเร็จในการทำให้ลูกน้อง “จากไป” แน่นอน !

จึงอยากฝากไว้ให้คิด

HR. Tips (การเป็นเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก) 26/2/52

นอกจากเรื่อง 6 ทักษะที่นายชอบแล้ว  ยังมีอีกเรื่องที่คุณประเสริฐของพวกเราได้เลือกนำมาเสนอ  นั่นก็คือ  “เรื่องการเป็นเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก  เรามาลองดูดีกว่านะคะ  ว่าจะทำให้ยังให้น่ารัก

  • อย่าหยิบของคนอื่นโดยพลการ  บางครั้งเราอาจจะคิดไปเองว่า  เพื่อนคงไม่คิดมากหรอก  ก็เราเป็นเพื่อนสนิทนิ  เอาไปก่อนล่ะกัน  แต่ความจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น  เพราะนิสัยแต่คนก็ต่างกันไป  บางคนไม่ใช่ไม่ให้นะคะ  แค่บอกก่อนเท่านั้นเอง  เขาให้ด้วยความเต็มใจด้วยซ้ำไป  แต่หากเราไปหยิบโดยไม่บอก  เขาอาจจะมองเราในอีกเจตนารมณ์นึงก็เป็นไปได้  ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยทั่วไปอยู่แล้วนะคะ
  • รักที่ทำงานเหมือนที่บ้าน  วันนี้คุณประเสริฐบอกพวกเราว่า  ถ้าเราดูแลบ้านเราอย่างไรก็ให้ดูแลบ้านเราเยี่ยงนั่น  แต่หนิงว่าอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนนะคะ  เพราะบางคนเราอาจจะใช้บ้านเป็นแค่ที่ซุกหัวนอน (อุ๊ย…แรงไปป่าว  อย่าคิดมากนะคะ  เอามันส์ล่ะกัน  อิอิ)  แต่เขาอาจจะดูแลที่ทำงานได้ดีกว่าก็เป็นไปได้  หนิงมองว่าสำหรับเรื่องนี้แค่เขาต้องการจะบอกว่าเราต้องรักและดูแลที่ทำงานเพราะจริง ๆ แล้วเราอาจจะใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าที่บ้านซะอีก  หมายถึงในช่วงที่เราไม่ได้หลับอ่ะค่ะ
  • การโต้ตอบต้องสุภาพ  เอาใจเขามาใส่ใจเรา  เราไม่ชอบให้ใครพูดกับเราแรง ๆ ก็ต้องไม่พูดกับเขาแรง  แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราชอบแล้วเขาจะชอบเสมอไปนะคะ  ไม่แน่ใจว่าเคยเรียนรู้เกี่ยวกับ DISC กันหรือเปล่า  ซึ่งเป็นแบบสำรวจที่จะบอกว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร  เราเป็นอย่างไร  เพื่อเป็นการปรับให้เข้ากันได้  เพราะบางคนชอบแบบไม่ต้องพูดมาก  ให้พูดแบบตรง ๆ ไปเลย  หรือบางคนก็ต้องใช้วิธีการโน้มน้าว  เป็นต้นค่ะ
  • สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน  เช่น  ไปช่วยงานศพ  ไปร่วมงานแต่ง  อะไรแบบนี้เป็นต้น
  • อย่าเปิดเผยความลับของเพื่อน  ไม่งั้นความไว้วางใจกันก็จะไม่มี  และต่อไปเพื่อนก็ไม่อยากคบ  เพราะว่าเราขายคำว่า “เพื่อน” ไปแล้ว
  • อย่าคาดหวังว่าคนอื่นจะรับหน้าที่หรือภาระแทนเรา  ในที่นี้ก็คือ  ไม่ทิ้งงานให้เพื่อนต้องเป็นผู้รับผิดชอบงานแทนนั่นเอง  โดยเฉพาะในยามที่เรามั่นใจว่าเป็นการรับผิดแน่ ๆ เพราะส่วนใหญ่คนจะชอบเฉพาะช่วงที่รับชอบเท่านั้น  จริงป่าว
  • อเมริกันแชร์  คงเข้าใจกันดี  ไม่ต้องขยายความนะคะ
  • อย่านินทาเพื่อน  แต่ถ้าได้ยินเพื่อนนินทาก็ไม่ต้องใส่ใจนะคะ  คิดบวกไปทางอื่นซะดีกว่า
  • ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความจริงใจ  ขอย้ำว่าจริงใจนะคะ  มันเป็นเรื่องที่สัมผัสกันได้โดยไม่ต้องบอกอยู่แล้วว่าใครจริงใจหรือไม่จริงใจ  sense ล้วน ๆ
  • อย่าดูถูกเพื่อน  แต่จงดูเพื่อนให้ถูกจะดีกว่านะคะ

ทั้งสิบข้อนี้  เป็นสิ่งที่ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเราที่จะทำหรอกค่ะ  โดยเฉพาะเราที่อยู่ในสายงานนี้แล้วเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะหากเราต้องเป็นทั้งที่ปรึกษา  เป็นผู้ที่ต้องคิดบวกให้ได้ก่อน  พร้อมกันนั้นเราต้องเป็นที่ยอมรับ  และเป็นที่รักของทั้งผู้บริหารและพนักงานทุก ๆ คนด้วย  จริงจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่าดีนะคะ  อิอิ

HR. Tips (6 ทักษะที่นายชอบ) 26/2/52

อีกเช่นเคยนะคะที่เวลาเข้าร่วมประชุมกับทาง “ชมรมการบริหารทรัพยากรบุคคลจังหวัดภูเก็ต”  เราจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ HR. Tips จากคุณประเสริฐ  มนต์ประสิทธิ์  วันนี้ก็เช่นกัน  หนิงก็เลยไม่อยากเก็บสิ่งที่ได้รับรู้ไว้เพียงคนเดียว  หรือเฉพาะคนที่เข้าประชุมเท่านั้น  สัญญานะคะว่าต่อไปหากได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ HR. Tips หนิงจะพยายามมาเขียนเล่าสู่กันทุกครั้งค่ะ  แต่ตอนนี้ขอเล่าเรื่องที่ได้รับฟังมาในวันนี้ก่อนนะคะ

เรื่องแรกเป็นเรื่องของ 6 ทักษะที่นายชอบ

  • การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งข้อนี้หนิงเองก็ขอยืนยันนะคะว่าเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานมาก ๆ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งไหน  เพราะหากการสื่อสารไม่ดีโอกาสในการผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นสูง  ดังนั้น  เราต้องมาดูกันว่าการสื่อสารประกอบด้วยอะไรบ้าง  ส่วนแรกส่วนของการส่งสาร  ซึ่งการส่งสารก็มีหลายทางเช่นกัน  เช่น  การพูดด้วยวาจา  การพิมพ์ในรูปของเอกสารหรือส่ง e-mail  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ต้องมีความชัดเจนทั้งเรื่องของภาษาที่ใช้และข้อมูลที่ครบถ้วนด้วย  ไม่ใช่คิดแล้วแต่ชี้แจงไม่หมด  ซึ่งคนรับสารก็ไม่สามารถเข้าทางในได้  อีกอย่างสำหรับเรื่องของการส่งสาร  คือ  ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทางเดียวเสมอไป  บางครั้งต้องใช้ทั้งเอกสารและการอธิบายด้วยเพื่อสร้างความชัดเจนให้มากขึ้น  และป้องกันการผิดพลาด  มาถึงส่วนที่สองก็คือส่วนของการรับสาร  ซึ่งบางครั้งคิดว่าเข้าใจแล้วแต่อาจจะคิดไปเองตามรูปแบบที่ผู้รับอยากให้เป็นเพราะพื้นฐานคนเราต่างกัน  ดังนั้นเมื่อรับสารแล้วทางที่ดีก่อนจะปฏิบัติใด ๆ ถ้าเป็นไปได้  ควรจะทำการยืนยันก่อนว่าที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องตรงกันจริง ๆ
  • การทำงานเป็น Team  จากที่หนิงทำการ Training  ในหลาย ๆ ครั้ง  หนิงจะย้ำเสมอว่า  ตอนนี้รูปแบบของการทำงานนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ยุคการทำงานแบบ One Man Show หมดสมัยไป  ซึ่งก็คือยุคของการใช้ IQ นั่นเอง  แต่ ณ ปัจจุบันเป็นยุคของ EQ ซึ่งก็คือยุคของการใช้ Service Mind  ใช้การทำงานเป็นทีม  ดังนั้นการที่เราอยู่ในองค์กรยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไหร่  ปัญหาการขัดแย้งต่าง ๆ ยิ่งมีมาก  เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของคนร้อยพ่อพันแม่มาอยู่ด้วยกัน  แต่หากเราพยายามใช้หลัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “การคิดบวก” ให้มาก ๆ ก็อยู่กันเป็น Team ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ
  • นักแก้ปัญหา  ไม่ใช่ปัญหาเชาว์นะคะ  แต่โดยปกติคนที่ตอบปัญหาเชาว์ต่าง ๆ ได้ดีก็มักจะแก้ปัญหาได้ดีนะ  (เท่าที่เจอมา)  นั่นหมายความว่าบุคคลบางจำพวกอาจจะไม่ใช่คนที่เรียนหนังสือเก่ง  แต่รู้จักในการเอาตัวรอดเป็นก็อาจจะอยู่ในข่ายนี้ได้เหมือนกันนะคะ  เพราะคนที่เรียกเก่งแต่ต้องใช้หลักการหรือตัวอย่าง  หรือความขยันทำให้เรียนเก่ง  ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเก่ง  ตรงกับข้ามกับคนที่เรียนไม่เก่งแต่เอาตัวรอดได้นะคะ
  • ผู้มีความคิดริเริ่ม  ซึ่งหนิงมักจะบอกกับทีมงานของหนิงเสมอว่า  บางครั้งเรื่องบางเรื่องที่เราทำกันมานานจนเป็นประเพณีนั้น  ไม่ได้หมายความว่า  ดีแล้ว  หรือเปลี่ยนไม่ได้  หากสิ่งที่เราปฏิบัติมานานแสนนานนั้น  เรายังมองเห็นจุดบกพร่อง  ก็มีวิธีการอื่นที่ง่ายกว่า  สะดวกกว่า  เราก็ควรที่จะยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย  ไม่งั้นการพัฒนาก็จะไม่เกิด  ซึ่งก่อนหน้านี้หนิงก็เคยพูดถึงเรื่องของการ Change เอาไว้บางแล้ว  ลองกลับไปอ่านกันดูนะคะ
  • มีทักษะในการจัดการ  แน่นอนค่ะ  ผู้ที่มีการจัดการที่ดีย่อมมีความเป็นระบบสูง  นั่นก็คือ  อาจจะต้องมีการวางแผนงาน  เช่น การทำ Action Plan ต่าง ๆ ล่วงหน้าเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมนั่นเอง  และนอกจากเรื่องของการวางแผนแล้ว  เราเองก็ควรจะมีการจัดการคน  จัดการเวลาที่ดีด้วย  ประสิทธิภาพการทำงานจึงจะเกิดขึ้นสูงสุด  เพราะหากคุณมองแค่มุมเดียว  มันก็ไม่สามารถตอบสนองได้ทุกด้านนั่นเองค่ะ
  • ผู้ที่สามารถปรับตัวเองได้  ขออนุญาตนะคะ  หนิงขอยกตัวอย่างเช่นสัตว์ต่าง ๆ ที่มีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาตัวรอดนั่นเอง  ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจก, ตั๊กแตน หรืออีกหลาย ๆ ชนิด  หรือถ้าจะให้เห็นภาพอีกอย่างก็คือ “น้ำ” เพราะน้ำเมื่ออยู่ในภาชนะชนิดใดก็ตามมันก็สามารถที่จะอยู่ได้  เพราะมันมีการปรับตัวนั่นเอง  แต่ถ้ามันกลายเป็นน้ำแข็งเมื่อไหร่  มันก็ไม่สามารถที่จะปรับเข้ากับภาชนะต่าง ๆ ได้  จนกว่ามันจะละลาย  จริงไห๊มค่ะ

เป็นไงบ้างค่ะ  สำหรับ 6 ทักษะที่กล่าวมา  บางข้ออาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน  แต่เราต้องไปหานะคะว่าตัวเราเองยังขาดข้อไหนบ้าง  เพราะไม่งั้นเราก็จะไม่ได้แก้ไขในจุดที่เราบกพร่อง  ส่วนเรื่องไหนที่เราแข็งแรงแล้วก็พยายามเสริมให้เกร่งยิ่งขึ้นไปอีก  การพัฒนาของการไม่มีทางสิ้นสุดหรอกนะคะ  หากเราสำรวจตัวเองอย่างสม่ำเสมอค่ะ  อิอิ

คำสอนของท่านเจ้าเมือง

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่หนิงได้เข้าไปร่วมประชุมกับทาง “ชมรมการบริหารทรัพยากรบุคคลจังหวัดภูเก็ต”  หลังจากห่างหายไปหลายเดือน  ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีเอามาก ๆ ที่ได้เข้าไปร่วมการประชุมในครั้งนี้  เพราะไม่ว่าจะได้พบกับท่านเศรษฐพันธ์  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด  อีกทั้งยังมีท่านอนุชน  เข้ามาร่วมให้ความรู้  และข้อคิดต่าง ๆ มากมาย

สำหรับในช่วงที่ท่านเศรษฐพันธ์ได้บอกเล่าให้พวกเราได้รับรู้ก็คือ  ท่านได้บอกว่าในอีกไม่ช้าไม่นานนี้  อนาคตของภูเก็ตน่าจะดีขึ้น  โดยการช่วยเหลือต่าง ๆ จากทาง ททท. ก็รอดูลุ้นกันไปก่อนนะคะว่าจะเป็นเมื่อไหร่  แต่ตอนนี้ทาง ททท. เองก็ได้ช่วยเหลือกับทางองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำ e-marketing ซึ่งพวกเราสามารถเข้าไปได้ที่ travelsouththailand.com ซึ่งเป็น web ที่ช่วยขายให้กับโรงแรมต่าง ๆ เป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีบริการทางด้าน IT ต่าง ๆ อีกมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นตัว life chat ฯ  ลองสอบถามไปทาง ททท. ดูนะคะ  เผื่อว่าจะมีลู่ทางดี ๆ เพิ่มขึ้นให้กับทางองค์กร

ส่วนคนถัดมานี่ซิ  เป็นผู้ที่มาให้ข้อคิดกับพวกเราได้เยอะเหมือนกัน  จะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจากท่านเจ้าเมือง  หรือท่านผุ้ว่าปรีชา  จันทร์เรือง  มุกท่านแต่ละคำเด็ด ๆ ทั้งน้าน  ท่านมาบอกกับพวกเราด้วยหลักการบริหารคนง่าย ๆ ก็ใช้หลักเดียวกับการบริหารตัวเรา  คนในครอบครัวเรานั่นแหละ  คือพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา  และยังบอกอีกว่า  การที่พวกเราได้อยู่ในสายของการบริหารงานบุคคลเนี่ย  ก็เปรียบเสมือนกับคน “มือทอง  สมองเพชร”  (ณ ขณะนั้นไม่รู้ล่ะคนอื่นจะคิดยังไง  แต่หนิงรู้สึกปลื้มขึ้นมาทันทีเลยล่ะ อิอิ)   ท่านยังไม่จบแค่นั้น  แต่ยังบอกอีกว่า  ก็ที่จะเป็นผู้ที่บริหารคนที่ดีนั้น  จะต้อง  “อ่านคนออก  บอกคนได้  ใช้คนเป็น”  หนิงว่าประโยคนี้ค่อนข้างครบถ้วนกระบวนความในตัวมันเองจริง จริ้ง  กับการที่จะอยู่ในตำแหน่งของการบริหารคน  พร้อมกันนั้นควร “พัฒนาคุณธรรม” ด้วย

อีกอย่างนะเท่าที่สังเกตุดูท่านปรีชา  น่าจะไม่ค่อยชอบนายกสักเท่าไหร่นะ  อุ๊ย! อันนี้มุกท่านนะคะ  หมายถึง ท่านนายกคนปัจจุบันชื่อนายกอภิสิทธิ์อ่ะค่ะ  ที่บอกว่าไม่ชอบนายกคือไม่ชอบอภิสิทธิ์  พวกที่ชอบขอโน้น, นี่, นั่น  กรณีพิเศษมากกว่าค่ะ  อิอิ

นอกจากนี้  ท่านยังสอนให้พวกเรา  แยกจำพวกคนด้วยนะคะ  โดยดูจากคำง่าย ๆ “ทำ-มา-หา-กิน”  ไม่น่าเชื่อจริง ๆ แยกได้ยังไง  แต่พอท่านอธิบายเสร็จ  ถึงบางอ้อเลยค่ะ  ท่านแยกให้พวกเราเป็น 3 จำพวก  คือ

  • พวก ทำ-กิน  คนพวกนี้ก็น่าจะเป็นพวกที่คบได้  และควรรับเข้าทำงานค่ะ
  • พวกถัดมาคือ หา-กิน  คนพวกนี้ก็ยังจะเป็นพวกที่ยังคงคบได้อยู่เช่นกัน  แต่สำหรับพวกสุดท้าย
  • พวก มา-กิน  พวกนี้ต้องระวัง  เพราะถ้ามา-กินเราก็คงจะแย่  เพราะจริง ๆ ต้องแชร์กันกิน  อิอิ  เพิ่มเอาเองค่ะ

สุดท้ายอีกท่านก็คือท่านอนุชน  ซึ่งวันนี้ท่านมาบอกให้พวกเราพยายามใช้วิธี “แรงงานสัมพันธ์” กับพนักงานน่าจะดีกว่าการบังคับ  นั่นก็คือ  พยายามบอกเล่าเก้าสิบ  พยายามพูดคุยกันด้วยเหตุผล  ทั้งสองฝ่าย  ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง  สันติสุขก็จะมาเอง (เพราะจินตหรารออยู่  อิอิ)  แต่นั่นก็อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายเหมือนกันนะคะว่าจะพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันขนาดไหน  เพราะบางครั้งลูกจ้างก็ไม่พยายามทำความเข้าใจนายจ้าง  และบางครั้งนายจ้างก็ไม่ค่อยประนีประนอมกับลูกจ้างเหมือนกัน  แล้วจะตกลงกันได้ไห๊มเนี่ย  สุดแล้วแต่…แต่….ก็แล้วกันนะ 5555

ทางสายกลาง

ช่วงนี้ยุ่ง ๆ กับงาน  เลยไม่ค่อยได้ไปฝึกโยคะเท่าไหร่  มีเรื่อง  มีปัญหามากมายที่ต้องคิด  จนบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองตึงเกินไปหรือเปล่ากับทางทำงาน  หรือการใช้ชีวิต  บางครั้งเราเลือกที่จะใช้วิธีนี้เพราะความเข้าใจไปเองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น  แต่มันอาจจะเป็นทางเลือกที่ดูจะรุนแรงหรือตึงเกินไป  ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราผ่อนลงมาบ้าง  เหตุการณ์มันอาจจะดีกว่านี้  กับความรู้สึกของคนรอบข้าง

“ยิ่งสูงยิ่งหนาว”  มันคำที่ใช้เปรียบเทียบซึ่งมักจะได้ยินกับบ่อย ๆ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ  กับสิ่งที่เราจะเจอ

บางครั้งหนิงรู้สึกหนักกับสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน  โดยเฉพาะงานทางด้าน HR. ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์  ระเบียบต่าง ๆ มันมีผลกับทุก ๆ คนในองค์กร  หากเขาเข้าใจว่านั่นคือหน้าที่การทำงานมันเป็นบทบาทนึงที่เราต้องเป็นต้องทำก็ดีไป  แต่ส่วนใหญ่แล้วทุกคนมีอารมณ์มีความรู้สึกมีความคิด  โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกับตัวเองยิ่งทำให้รู้สึกมากกว่าปกติจนลืมไป  คิดว่าเราแกล้งเขา  มันกลายเป็นเรื่องส่วนตัวกันไป  (แต่หนิงอาจจะคิดมากตรงจุดนี้เองก็เป็นไปได้)

ในบทบาทของ HR. ส่วนนี้ด้วยมั่ง  ที่ทำให้เหมือนกับเราเองจะตัดสินใจทำอะไรลงไป  ก็ไม่ค่อยอยากให้มีปัญหาตามมาว่า  ไปเข้มงวดกับส่วนอื่น  แล้วทำไมส่วนที่ตัวเองดูแลจึงปล่อยปละละเลย  อะไรต่าง ๆ นา ๆ มันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา  เราอาจจะตึงกับในส่วนที่เราดูแลมากเกินไปจนทำให้ลูกน้องเราเดือดร้อนหรือเปล่า

ในวันนี้หนิงอาจจะได้ข้อคิดบางอย่างเพิ่มขึ้นในการดูแลจิตใจคนรอบข้าง  เพราะบางครั้งเรามัวแต่ดูกฎเกณฑ์จนลืมนึกถึงจิตใจเขาเหมือนกัน…

ไม่รู้ว่าจะต้องแบกอีกนานแค่ไหน…อิอิ

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่

เหตุที่ต้องเขียนเรื่องนี้  เพราะว่า  ช่วงนี้ในองค์กรของหนิงเองก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงเอามาก ๆ ทำให้หนิงอยากทำความเข้าใจกับหลาย ๆ คนเกี่ยวกับเรื่องของการยอมรับการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะในครั้งนี้  เพราะมันเป็นผลพวงมาจากการเมือง  มันไม่ใช่เรื่องที่องค์กรอยากให้เป็น

จริง ๆ แล้วหนิงเองชอบในเรื่องของการไม่ยึดติดอยู่แล้ว  เพราะองค์กรหรือบุคคลใด ๆ ก็ตามที่ยึดติดอยู่กับสิ่งเก่า ๆ ไม่ยอมรับในสิ่งใหม่จะทำให้ล้าหลัง  ไม่เกิดการพัฒนา  และไม่ทันเหตุการณ์  ดังนั้น  องค์กรใด ๆ หรือบุคคลใด ๆ ก็ตามที่สามารถ “change” ได้เร็วเท่าไหร่ก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น

และจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทางด้านการเมืองที่เกิดขึ้น  ก็ต้องทำให้บริษัทฯ ที่หนิงทำงานอยู่ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย  ในเรื่องของน้ำ, ไฟ, รอบการเดินรถพนักงาน  รวมไปถึงรอบของการเข้าทำงาน  และอื่น ๆ อีกมากมาย  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง  ทำให้สิ่งที่เราคุ้นเคยในหลาย ๆ เรื่องเปลี่ยนไป  ความสะดวกสบายที่เคยมีลดหายไป  แอร์ที่เคยเปิดได้ตลอด  ณ ปัจจุบันอาจจะต้องเปิดหน้าต่างช่วยบ้างในบางโอกาส  ซึ่งสิ่งที่หนิงยกตัวอย่างมาทั้งหมดมันก็คือความปรับเปลี่ยน หรือ change ที่เราต้องทำในฤดูกาลนี้  ในเวลานี้  ซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้น  ไม่ใช่หมายถึงการก้าวทันเทคโนโลยีเสมอไป  เช่น  เมื่อก่อนการเก็บข้อมูลต่าง ๆ อาจจะใช้วิธีการถ่ายเอกสารเพียงอย่างเดียว  แต่ ณ ปัจจุบันอาจจะมีการเก็บในคอมพิวเตอร์  อะไรแบบนี้เป็นต้น 

นี่แหละค่ะ  สิ่งที่หนิงต้องการจะบอกกับทุกคนก็คือ  การปรับเปลี่ยนนั้น  เป็นการปรับเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน  ให้เข้ากับการแก้ไขปัญหา  เพื่อรองรับอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น  ไม่ใช่ว่าปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว  ดังนั้นการเปลี่ยน หรือ change ไม่ใช่แค่การปฏิบัติเท่านั้น  แต่เราต้องปรับไปถึงความคิดและทัศนคติด้วย  เพราะหากเราถูกบอกให้ทำแล้วก็ทำ ๆ ไป  เราจะทำแบบไม่เต็มร้อย  แล้วผลมันจะออกมาเต็มร้อยได้ยังไงล่ะค่ะ  แต่ถ้าเราปรับความคิดเราด้วยพยายามหาถึงเหตุผล  สาเหตุ  ที่มาที่ไป  เราก็จะปรับแบบเต็มใจและเข้าใจเป้าหมายในการทำ  ผลสรุปสุดท้ายก็จะดีเอง  เพราะทุกคนทราบในเป้าหมายเดียวกัน  ไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร  เมื่อองค์กรอยู่ได้เราก็อยู่ได้จริงไห๊มค่ะ  หนิงไม่ทราบนะคะว่าคนอื่นคิดยังไงกับสถานที่ทำงานของตน  แต่หนิงรู้สึกว่าที่ทำงานเป็นบ้านที่สองจริง ๆ เราลองคิดดูซิเราใช้ชีวิตในที่ทำงานมากกว่าที่บ้านเสียอีก  เพราะอยู่บ้านส่วนใหญ่หนิงจะใช้เวลาไปกับการนอนซะมากกว่า  อิอิ  (ก็กว่าจะกลับบ้านก็มืดค่ำแล้วนี่ใช่ม๊า)

มาวิเคราะห์ตัวเองและคนอื่นกันเถอะ

ช่วงนี้ไม่ค่อยว่างที่จะ update ข้อมูลเลย  แต่ก็กลับมาเพื่อทำตามสัญญาที่ค้างไว้นะคะ  ว่าจะเอาสิ่งดี ๆ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

สำหรับวันนี้  หนิงขอนำเสนอ  เกี่ยวกับเรื่องของการวิเคราะห์สไตล์คนดีกว่า  ซึ่งจะแบ่งคนแบบ DISC คือ แบ่งคนเป็น 4 รูปแบบพฤติกรรมหลักยังไงล่ะค่ะ  (ก็คล้าย ๆ กับการดูดวงนั่นแหละ)

ทำไมต้องวิเคราะห์กันล่ะ

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัย  สำหรับหนิงเหรอค่ะ  หนิงคิดว่าเราได้หลายอย่างมากค่ะ  เพราะหากเรารู้เรา  รู้เขา  รบ 100 ครั้ง  ชนะ 100 ครั้ง  ยังไงล่ะค่ะ  บางคนก็อาจจะยังไม่ค่อยกระจ่างอีก  หนิงขอแยกออกเป็นข้อ ๆ นะคะ  เช่น

  • ถ้าเรารู้ตัวเราว่าจุดแข็งอยู่ที่ไหน  เราก็ทำให้จุดแข็งของเราดียิ่งขึ้นไปอีก
  • ถ้าเรารู้ว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน  เราก็พัฒนาให้มันดีขึ้น
  • ถ้าเรารู้ว่าจุดอ่อนและจุดแข็งของคนอื่นอยู่ตรงไหน  เราก็จะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น  ก็คล้าย ๆ กับ  put the right man on the right job นั่นแหละค่ะ
  • หากเรารู้ว่าพฤติกรรมของคนที่เราติดต่อเป็นอย่างไร  เราก็จะรู้ว่าเราจะใช้วิธีไหนในการสื่อสารกับคน ๆ นั้นยังไงล่ะค่ะ  จะได้คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น
  • แล้วก็อีกมากมายค่ะ

เห็นไห๊มล่ะค่ะ  เพียงแค่เรารู้หลักในการสำรวจสักนิด  สิ่งที่เราจะได้ตั้งมีตั้งเยอะแยะ  งั้นเราลองมาดูกันนะคะ  ว่าเจ้า DISC เนี่ยเป็นยังไง  โดยปกติเราจะต้องอาศัยแบบสำรวจ  ซึ่งจะต้องใช้ความคิดแรกในการอ่านเป็นตัวช่วยวัดนะคะ  แต่ตอนนี้เราไม่มีแบบสอบถาม  เอาเป็นว่ามาดูในแต่ละตัวกันเลยดีกว่านะคะ

ตัวแรกคือ  ตัว D  ย่อมาจาก  Dominance  จะพูดถึง  เป้าหมาย  ตนเอง  ผลลัพธ์  คุณค่า  การเปลี่ยนแปลง  ภาพใหญ่  และชัยชนะ  ส่วนใหญ่จะเป็นคนประเภทนี้จะเป็นพวกชอบสั่งการค่ะ  คิดไงก็พูดงั้น  ไม่ค่อยอ้อมค้อมเท่าไหร่  บุคคลประเภทนี้  มักจะ  เรียกร้อง  ยึดตัวเองเป็นหลัก  ทะเยอทะยาน  ชอบริเริ่มสิ่งใหญ่  มุ่งมั่นแข็งขัน  เด็ดเดี่ยว  แน่วแน่  ก้าวร้าว  ชอบแข่งขัน  เด็ดขาด  กล้าได้กล้าเสีย  อยากรู้อยากเห็น  รับผิดชอบ

ตัวถัดมาก  คือ  I  ย่อมาจาก  Influence  จะพูดถึง  ผู้คน  สังคม  Team  Spirit  สิ่งดี ๆ อนาคต  แล้วก็ตนเอง  ว่ากันง่าย ๆ ก็เป็นพวกชอบโน้มน้าวอ่ะค่ะ  แคร์คนที่อยู่รอบข้างนะคะ  แต่ก็มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่  บุคคลกลุ่มนี้มักจะ  พูดมาก  น้ำท่วมทุ่ง  สร้างแรงบันดาลใจ  ดึงดูด  จูงใจ  ฉลาด  กระตือรือร้น  แสดงความรู้สึก  โน้มน้าวใจ  อบอุ่น  ทำให้เชื่อ  พูดจาสละสลวย  คิดในแง่บวก  ไว้วางใจ  เป็นกันเอง

ตัวต่อไป  ก็คือ  S  ย่อมาจาก  Steadiness  จะพูดถึง  ความรู้สึก  ข้อตกลง  หลักการ  อดีต  ข้อพิสูจน์  ความชำนาญของทีม  เป็นคนนิ่ง ๆ ดูยาก  เงียบ  ไม่พูด  จะเป็นพวกที่ยึดแบบแผน  มักจะเฉื่อยชา  ค่อยเป็นค่อยไป  ไม่ค่อยชอบเปลี่ยน  ไม่แสดงความรู้สึก  เฉยๆ คุมสถานการณ์  คาดเดาได้  สม่ำเสมอ  รอบคอบ  หนักแน่น  มั่นคง

ตัวสุดท้ายคือ  C  ย่อมาจาก  Compliance  จะพูดถึง  ความจริง  วิเคราะห์  กฎ  รายละเอียด  คำสั่ง  เรื่องที่เชี่ยวชาญ  เป็นผู้ที่ชอบใช้ข้อมูลแหลก  เป็นพวกที่ชอบวิเคราะห์นั่นเอง  คนกลุ่มนี้มักจะ  หลีกเลี่ยง  วิตกกังวล  รอบคอบ  ขึ้นอยู่กับข้อมูล  ระมัดระวัง  มีระเบียบแบบแผน  พิถีพิถัน  เรียบร้อย  เป็นระบบ  มีชั้นเชิง  ละเอียดละออ  รู้จักกาลเทศะ  ใจกว้าง  พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา

เป็นยังไงบ้างค่ะ  คิดว่าตัวเองเป็นตัว D, I, S หรือ C ค่ะ 

หนิงมองว่าจริง ๆ แล้ว  คนทุกคนจะมีพฤติกรรมทั้ง 4 แบบอยู่ในตัว  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์  ภาวะอารมณ์  ลักษณะงาน  และอีกหลาย ๆ อย่าง  ไม่ใช่ว่าเราเป็น S แล้วจะเป็น S ตลอด  เพียงแต่ภาพรวมเราอาจจะเป็นคนที่มีลักษณะของ S ที่เด่น  แต่จริง ๆ แล้วเราก็อาจจะมีทั้ง D, I, และ C ร่วมด้วยก็เป็นไปได้ค่ะ

และจากการวิเคราะห์นี้  ในฐานะที่อยู่ HR. หนิงมองว่าหากเรารู้ว่าคนไหนเด่นในเรื่องใด  เราก็สามารถวางงานเขาให้เหมาะสมกับตัวของเขาได้โดยที่เขาเองก็ชอบกับงานนั้นเพราะถนัดที่จะทำ  เราเองก็จะได้งานที่ดีจากเขาด้วย  ปัญหาก็จะน้อยลง  (จะบอกว่าไม่มีก็เกรงใจค่ะ  เพราะน่าจะยาก อิอิ)

ที่นี้เมื่อเรารู้แล้วว่าบุคคลคนนี้เป็นคนประเภทไหน  เราก็จะรู้แล้วล่ะค่ะว่าจะต้องใช้วิธีใดในการพูดคุย  สื่อสารกับเขา  เช่น

  • ถ้าเขาเป็น D  เราควรจะพูดกับเขาแบบตรงไปตรงมา  พูดเนื้อ ๆ ให้กระชับ
  • ถ้าเขาเป็น I  เราต้องแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก  ความเห็นอกเห็นใจ  อย่าพูดฝ่ายเดียว
  • ถ้าเขาเป็น S  เราต้องอยู่นิ่ง ๆ ค่อย ๆ พูด  และตั้งใจฟัง
  • ถ้าเขาเป็น C  เราต้องจัดเตรียมข้อมูลไปเยอะ ๆ และตอบสนองก็สนทนาอย่างมีเหตุมีผล

ลองเอาไปใช้กันดูนะคะ  จริง ๆ หนิงอยากจะยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้อีก  แต่เกรงว่าจะยาวเกินไป  เอาเป็นว่า  ถ้าใครสงสัยก็เขียน comment มาก็แล้วกันนะคะ  หนิงจะตอบให้  ขอบคุณค่ะ